Engineering
EXPERT International
“B-WIM” เทคโนโลยี จบปัญหาส่วยรถบรรทุก
B-WIM คืออะไร? จะแก้ปัญหาส่วยรถบรรทุกได้จริงหรือ!!! และแตกต่างจาก WIM อย่างไร
ในช่วงนี้ส่วยสติกเกอร์หรือส่วยรถบรรทุก ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมไทย หลายคนคงได้ยินกับระบบ WIM (Weight-In-Motion) เทคโนโลยีที่ใช้แก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่หลายท่านสนับสนุนให้นำมาใช้ในประเทศไทย แต่วันนี้เราอยากนำเสนอระบบ B-WIM เทคโนโลยีที่ใช้แก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทย และถูกนำมาติดตั้งเพื่อทดลองเก็บข้อมูลในไทยแล้ว!!!
B-WIM (Bridge Weight-In-Motion System) คือ ระบบที่สามารถตรวจจับและบันทึกน้ำหนักรวมของรถบรรทุก เมื่อเคลื่อนผ่านอุปกรณ์ตรวจวัด โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอความเร็ว ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงมีระบบกล้องตรวจสอบป้ายทะเบียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อแสดงหมายเลขทะเบียนบนแอปพลิเคชันแสดงข้อความเตือนว่ามีน้ำหนักเท่าไหร่ เป็นรถประเภทใด มีกี่เพลา วิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ ผ่านเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ระบบ B-WIM ถูกวิจัยและพัฒนาให้ระบบวิเคราะห์และประมวลผลได้อย่างแม่นยำ โดยบริษัท เทร่า แทรฟฟิค เทคโนโลยี จำกัด จึงเรียกอีกชื่อว่า TERA B-WIM
ระบบ TERA B-WIM ประกอบด้วย กล้องตรวจสอบป้ายทะเบียนรถ, อุปกรณ์จำแนกประเภทรถ (Vehicle Classification System), อุปกรณ์ตรวจวัดน้ำหนัก (Weight Sensor) และชุดควบคุมประมวลผล (Control and Analysis System) โดยอุปกรณ์จะถูกติดตั้งในโครงสร้างของสะพาน
ประโยชน์ของ TERA B-WIM นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินแล้ว ยังจะช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนและสะพาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างสะพานที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการบำรุงรักษา และสามารถติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆเพิ่มเติม เพื่อมอนิเตอร์สุขภาพของทั้งโครงสร้างสะพานหรือที่เรียกว่า Structural Health Monitoring (SHM) นำข้อมูลจากอุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งในโครงสร้างสะพานมาวิเคราะห์ความแข็งแรงของสะพานว่าสุขภาพของสะพานเป็นอย่างไร อีกกี่ปีจึงต้องทำการซ่อมแซมบำรุงรักษา
TERA B-WIM จะใช้โครงสร้างสะพานเป็นอุปกรณ์รับน้ำหนัก ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยี WIM ที่ติดตั้งบนผิวทางทั่วไป ดังนั้น TERA B-WIM จึงมีความทดทานและมีอายุการใช้งานสูงกว่า ไม่ต้องปิดการจราจรเพื่อซ่อมบำรุงรักษาระบบ หากระบบเกิดขัดข้องก็สามารถแก้ไขหรือถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ชุดใหม่ได้โดยง่าย
วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ได้ผล คือ การลดปฏิสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยการนำเอาเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักระบบอัตโนมัติ TERA B-WIM มาใช้ควบคู่กับระบบการออกใบสั่งทางเล็กทรอนิกส์ที่สามารถส่งใบสั่งไปยังผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้ทันที และมีการชำระค่าปรับโดยการโอนชำระค่าปรับผ่านระบบธนาคารเป็นหลัก เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ลดปัญหาการกลั่นแกล้งเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็มีความสะดวกสบายในการดำเนินกิจการมากขึ้น ไม่ต้องจอดรถหรือต่อคิวขึ้นชั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และกลายเป็นการแก้ปัญหาส่วยทางหลวงอย่างยั่งยืน